ก่อนจะเลือกสุนัขพันธุ์ใดมาเลี้ยงเราก็จะต้องพิจารณาองค์ประกอบหลาย ๆ ด้านประกอบกัน เช่น สุนัขบางพันธุ์มีแนวโน้มจะเห่าเสียงดัง บางพันธุ์อยู่กับเด็กไม่ได้ บางพันธุ์ต้องให้ออกกำลังมาก ๆ บางพันธุ์ต้องแปรงขนให้บ่อย ๆ เป็นต้น จากข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ก็พอจะทำให้เราเข้าใจว่าสุนัขพันธุ์ที่เราจะนำมาเลี้ยงมันจะเข้ากับวิถีชีวิตของเราได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเราต้องอยู่ในเมืองหรือในห้องชุด แต่สุนัขบางพันธุ์เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในบรรยากาศแบบชานเมืองหรือแบบชนบท เราก็ไม่ควรนำมาเลี้ยง ควรเสาะแสวงหาพันธุ์ที่สามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตในเมืองหรือในห้องชุดได้มาเลี้ยง อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อเลี้ยงสุนัขไว้แล้วต้องหมั่นพามันไปพบสัตว์แพทย์ตามห้วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเป็นหลักประกันในความมีสุขภาพดีของมัน ลูกสุนัขต้องได้รับการฉีดวัคซีนในช่วงระหว่าง 6-16 สัปดาห์ เพื่อป้องกันโรคต่าง ๆ นอกจากนั้นก็ต้องคอยระวังป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และโรคพยาธิในลำไส้ ซึ่งสุนัขที่มีพยาธิจะแสดงอาการให้เห็นคือมันไม่ค่อยเจริญเติบโตเท่าที่ควรแม้ว่าจะให้สารอาหารเป็นอย่างดีแล้ว และจะมีอาการอาเจียนและท้องเสียเป็นระยะ ๆ ให้ได้เห็น พยาธิอีกอย่างหนึ่งที่ต้องระวังมากเป็นพิเศษคือพยาธิหัวใจซึ่งติดต่อจากการถูกยุงกัด ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ด้วยการให้รับประทานยาในช่วงฤดูที่มียุงชุกชุม ส่วนสัตว์ประเภทปาราสิตที่อาศัยอยู่กับสุนัขก็คือเห็บและหมัด จะต้องคอยกำจัดทั้งที่อยู่ในตัวสุนัขโดยตรงหรือทีอยู่ตามสถานที่อยู่ของสุนัขนั้นด้วย
สุนัขระบายความร้อนทางเหงื่อไม่ได้ แต่จะใช้ลิ้นระบายความร้อน สุนัขที่สุขภาพดีสามารถสังเกตได้จากจมูกคือจมูกของมันจะชื้น แต่ถ้าสุนัขป่วยหรือเกิดผิดปกติจมูกของมันจะแห้ง เราต้องรีบพาไปหาสัตว์แพทย์
สุนัขที่ผ่านการฝึกฝนดีแล้วจะเป็นเพื่อนของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลักในการฝึกนั้นก็จะต้องทำอย่างต่อเนื่องและคงเส้นคงวา และเมื่อสุนัขปฏิบัติได้ตามคำสั้งก็จะต้องมีการให้รางวัลเสียด้วย เจ้าของอาจฝึกฝนสุนัขของตนเองก็ได้แต่ก็ต้องมีความรู้และมีประสบการณ์ที่จะฝึกสุนัขพอสมควร หากพอมีเงินมีทองเหลือใช้ก็ควรจะส่งไปฝึกในโรงเรียนฝึกสุนัขหรือศูนย์ฝีกสุนัขของเอกชนซึ่งมีอยู่หลายแห่งในบ้านเรา ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โรงเรียนหรือศูนย์ฝึกเหล่านี้จะมีครูฝึกที่ชำนาญการช่วยฝึกฝนสุนัขของเราให้อยู่ในระเบียบวินัยที่ดีได้
วันเสาร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น