Acte de gouvernement (n.m.) การกระทำของรัฐบาล (กม. ปกครอง)
คำว่า"การกระทำของรัฐบาล"หรือ "Act de gouvernement" นี้ ใช้เพื่อเรียก การกระทำที่รัฐบาลทำแล้วศาลปกครองจะไม่สามารถเข้ามาควบคุมหรือตัดสินให้เป็นโมฆะได้
เพื่อพิจารณาว่าการกระทำใดบ้างเป็นการกระทำของรัฐบาล ในสมัยก่อนศาลปกครองของฝรั่งเศสใช้ ทฤษฎี "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง"(Mobile politique)ในการพิจารณา โดยการกระทำที่มาจากเหตุจูงใจทางการเมืองจัดว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล และศาลปกครองจะไม่เข้ามาควบคุม
อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี ค.ศ.1875 ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสได้นำทฤษฎี "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง"(Mobile politique)มาใช้เป็นเหตุยกเลิกการกระทำทางปกครอง (CE 19 février 1875 Prince Napoléon) โดยพิจารณาว่า การกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล แต่เป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ถูกต้อง และต้องเป็นโมฆะ โดยอาจเป็นโมฆะด้วยเหตุใช้อำนาจในทางที่ผิด (détournement du pouvoir) หรือ ใช้กฎหมายผิด (erreur de droit)ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำทางปกครองจะต้องมีเหตุจูงใจคือผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เหตุจูงใจทางการเมือง
ปัจจุบัน เราสามารถแบ่ง "การกระทำของรัฐบาล (Act de gouvernement)" ออกได้เป็น 2 ประเภท (G.CORNU,Vocabulaire juridique,PUF 1987 และ M.LONG,P. WEIL,G.BRAIBANT,P.DELVOLVE และ B.GENEVOIS,Les grands arrêts de la jurisprudence administrative, Dalloz,2001) ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การตัดสินใจให้ทำประชามติ การประกาศใช้มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในกรณีวิกฤตโดยประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการออกกฎต่างๆ การตัดสินใจยุบสภา การแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรี การประกาศใช้กฎหมาย เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ การอนุวัติการ การปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหารระหว่างประเทศ
การกระทำของรัฐบาลไม่สามารถถูกควบคุมโดยศาลปกครอง และรัฐ (ประเทศ) ไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของรัฐบาล (สนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล เนื่องจากสนธิสัญญาไม่ใช่การกระทำของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ฝรั่งเศสยอมรับว่ารัฐอาจต้องรับผิดจากผลของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นการรับผิดชอบโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความผิด (Résponsabilité sans faute))
วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น