ในปัจจุบันวัยรุ่นจำนวนมากโดยเฉพาะสาวๆ นิยมเข้าไปใช้บริการคลินิคลดน้ำหนัก เพราะต้องการมีหุ่นสวยเพรียวบาง เหมาะแก่การใส่เสื้อผ้ารัดรูปโชว์ทรวดทรงองเอว แฟชั่นที่กำลังนิยมในหมู่วัยรุ่นยุคนี้ โดยคลินิคบางแห่งไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำปรึกษาดูแลการลดน้ำหนักอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้เกิดการลดน้ำหนักที่ไม่ถูกหลักวิชาการ ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ดังปรากฏเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับ เมื่อไม่นานมานี้
ดังนั้นการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องกระทำอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคอ้วนและการลดน้ำหนักอย่างถูกต้อง โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับภาวะการเจ็บป่วยและโรคต่างๆ การรักษาโรคอ้วนมีความจำเป็นอย่างยิ่งในทางการแพทย์ ทั้งนี้เพราะสถิติโรคอ้วนในประเทศไทย สูงขึ้นกว่าเดิมในทุกๆปีที่ผ่านมา ถ้าหากกำหนดดัชนีมวลกาย(Body Mass Index) มากกว่า 25 กิโลกรัม / ม.2 เป็นโรคอ้วนแล้ว จากการศึกษาวิจัยในกรุงเทพฯ ในรอบปีพ.ศ. 2544 –2545 พบว่ามีความชุกของโรคอ้วนมากถึง 25% และพบสถิติว่ากลุ่มที่มีรายได้ต่ำ จะมีโอกาสอ้วนมากกว่ากลุ่มผู้รายได้สูงและนักธุรกิจ จากการศึกษาวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์การแพทย์พบว่า มูลค่าการใช้จ่ายในการรักษาโรคอ้วนโดยตรงและโรคต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากโรคอ้วนได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ข้ออักเสบ และมะเร็งบางชนิดมีมูลค่ามากกว่าสองพันล้านบาทต่อปี ดังนั้นการพยายามลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่อ้วนจริง จึงเป็นโอกาสที่ลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายทางการแพทย์จำนวนมหาศาลนี้ได้ โรคอ้วนคือการที่คนเรามีน้ำหนักเกินนั้น เป็นผลมาจากความไม่สมดุลระหว่างพลังงาน ที่ได้รับกับพลังงานที่ร่างกายใช้ไปในแต่ละวัน เมื่อมีพลังงานส่วนเกินก็จะถูกเก็บสะสมไว้ตามร่างกายในรูป “ไขมัน“ เพื่อนำไปใช้ในยามจำเป็น แต่หากไม่มีการใช้ออกไป ไขมันที่สะสมก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นโรคอ้วนในที่สุดปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วน
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนมีอยู่ 2 ปัจจัยด้วยกัน คือ ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมพันธุกรรม เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคอ้วนขึ้นได้
- พันธุกรรมจะกำหนดการควบคุมการใช้และสะสมพลังงานของร่างกาย เด็กที่มีพ่อแม่ที่อ้วนมีแนวโน้มที่จะอ้วนมากถึง 25 –30% ยีนเหล่านี้เป็นตัวกำหนดความจุของเซลล์ไขมัน และการกระจายของไขมันทั่วร่างกาย ดังนั้น ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่อ้วนก็จะมีเซลล์ไขมันที่มีความจุมาก อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีไขมันส่วนเกินเข้าไปสะสม เด็กคนนั้นก็จะไม่อ้วน
- สิ่งแวดล้อม แม้ว่าปัจจุบันทางพันธุกรรมจะมีส่วนต่อการเกิดโรคอ้วน ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทสำคัญต่อการเกิดโรคอ้วนด้วยเช่นกัน ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมได้แก่ การรับประทานอาหาร ชนิดของอาหาร พฤติกรรมการบริโภค อาชีพ และการออกกำลังกาย เป็นต้น
การวัดค่าความอ้วน
หลักที่ใช้วัดความอ้วนโดยทั่วไปคือ ดัชนีมวลร่างกาย (Body Mass Index) เรียกสั้นๆ ว่า BMI ค่านี้ได้มาจากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัม หารด้วยความสูงหน่วยเป็นตารางเมตร ดัชนีมวลการในเกณฑ์ปรกติอยู่ที่ประมาณ 18.5-22.9 และจะเรียกว่าอ้วนเมื่อค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 อย่างไรก็ตามการใช้ BMI ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เนื่องจากไม่ได้วัดปริมาณไขมันที่สะสมในร่างกายโดยตรง แต่เป็นวิธีมาตรฐานที่ใช้กันอยู่โดยทั่วไป นอกจากนั้นการวัดรอบเอว หารด้วยรอบสะโพกหรือ waist-to-hip-ratio (WHR) หากได้ค่ามากกว่า 1.0 ในผู้ชาย หรือ 0.8 ในผู้หญิงก็จัดว่าเป็น “อ้วนลงพุง” ซึ่งก็เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular disease) มากขึ้น การศึกษาคนในเอเชียพบว่า สุขภาพจะดีที่สุดถ้า BMI อยู่ที่ 18.5 –22.9 โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานพบมากขึ้นเมื่อ BMI มากกว่า 23 โรคอ้วนจะก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง โรคอ้วนไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเรื่องของความสวยความงามเท่านั้น แต่ยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคร้ายต่างๆ ตามมาได้อีก โรคอ้วนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ดังนี้โรคอ้วนเป็นสาเหตุให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ของร่างกาย
1. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต หลอดเลือดดำอุดตันที่แขน ขา และอื่นๆ
2. ระบบเผาผลาญของร่างกาย เบาหวานชนิดที่ 2 ระดับไขมันในเลือดผิดปรกติ
3. ระบบทางเดินอาหาร กระเพาะอาหารเลื่อนขึ้นมาในทรวงอก นิ่วในระบบทางเดินน้ำดี (Gell stone or cholecystitis) มะเร็งลำไส้ใหญ่ ตับอักเสบจากไขมันในตับ เสี่ยงต่อการมีตับอ่อนอักเสบที่รุนแรง
4. ระบบทางเดินหายใจ หอบ นอนกรน (sleep apnea) ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายได้ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต สมองเสื่อม ฯลฯ Hypoventilation (Pickwickian syndrome-ความผิดปรกติของการหายใจ)
5. เส้นประสาทเต้านม เส้นประสาทถูกกด มะเร็งเต้านม Gynaecomastia (ผู้ชายมีนมใหญ่ขึ้น)
6. ระบบทางเดินปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นหมัน ภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์
7. กระดูก ข้อกระดูกเสื่อมบริเวณเข่า สะโพก และหลังส่วนล่าง โรคเกาต์
8.จิตใจ ขาดความมั่นใจในตัวเอง ซึมเศร้า ขี้กังวล
การรักษาโรคอ้วน
การลดน้ำหนักที่ถูกวิธีคือ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหากลองใช้วิธีวิธีการเหล่านี้แล้วไม่ได้ผล การใช้ยาลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยเมื่อใช้อย่างถูกวิธีร่วมด้วย จะทำให้ภัยในการลดน้ำหนักได้ผลดีขึ้น การรักษาโรคอ้วนหลักใหญ่มีอยู่ด้วยกันดังนี้
1. การควบคุมอาหาร (Dietary Therapy) โรคอ้วนเกิดจากการที่ได้รับพลังงานมากกว่าความต้องการ ดังนั้น การควบคุมการรับประทานอาหาร จึงเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาโรคนี้ หลีกเลี่ยงอาหารที่ให้พลังงานสูง ได้แก่ อาหารกลุ่มไขมัน เนื่องจากในปริมาณน้ำหนักอาหารที่เท่ากัน ไขมันจะให้พลังงานมากกว่าอาหารพวกแป้งถึง 2.5 เท่า โดยที่ต้องควบคุมอาหารที่มีไขมันไม่เกินร้อยละ 30 ของแต่ละมื้ออาหาร Low calories diet การลดปริมาณแคลอรีวันละ 500–1,000 กิโลแคลอรี จากที่เคยได้รับเป็นประจำจะสามารถช่วยลดน้ำหนักได้
2. การออกกำลังกาย (Physical Activity) ใช้พลังงานมากขึ้นโดยการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การออกกำลังกาย นอกจากช่วยในการลดน้ำหนักแล้ว ยังช่วยให้กล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการหายใจทำงานแข็งแรงขึ้นอีกด้วย
3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavior Therapy) การให้คำแนะนำในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต(lifestyle) เป็นกลยุทธ์ที่ช่วยให้การควบคุมอาหาร (Dietary Therapy) และการออกกำลังกาย (Physical Activity) ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้การลดหรือควบคุมน้ำหนักประสบผลสำเร็จได้ดีขึ้น
4. การรักษาด้วยยา (Pharmacotherapy) ปัจจุบันมีการใช้ยาลดความอ้วนกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงวัยรุ่นและวัยทำงาน โดยปรกติแพทย์จะพิจารณาให้ยาลดน้ำหนักในผู้ที่มีดัชนีมวลกายระหว่าง 25–30 kg./m2
การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก
การเดิน เป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่งมาช้านาน ในช่วง 10 ปี มานี้ ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับการออกกำลังกายและพบว่าการออกกำลังแบบแอโรบิก เป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของระบบหัวใจและการไหลเวียนของเลือด แต่ถ้าต้องการเพียงลดหรือควบคุมน้ำหนัก ควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต เพียงแค่การเดินก็สามารถช่วยได้มาก
บางคนอาจจะสงสัยว่า การเดินช่วยในการควบคุมน้ำหนักได้อย่างไร จริงๆ แล้วการเดินมีประโยชน์หลายอย่าง และเหมาะที่จะเป็นสิ่งเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย บางคนอาจคิดว่า การเดินไม่ใช่การออกกำลัง อันที่จริงการเดินใช้พลังงานมากพอกับกีฬาบางชนิด
สิ่งสำคัญในการเดินเพื่อการลดน้ำหนักคือ พยายามที่จะเดินให้ไกลและนานขึ้น ควรจะเดินวันละประมาณ 45 นาทีทุกวัน การเดินระดับนี้ 3-4 วันต่อสัปดาห์ จะทำให้คุณควบคุมน้ำหนักให้คงที่ได้ แต่ถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก ต้องเดินออกกำลังกายทุกวัน หากไม่มีเวลาพอที่จะเดิน 45 นาที ในครั้งเดียว สามารถแบ่งการเดินครั้งละ 15 นาที วันละ 3 ครั้ง ก็ได้เช่นกัน และถ้าคุณเดินร่วมกับการกินอาหารไขมันต่ำ คุณควรจะมีน้ำหนักตัวลดลงประมาณ 1 กก.ต่อเดือน หรือ 12 กก.ใน 1 ปี
กิจกรรมในชีวิตประจำวัน
กิจกรรมในชีวิตประจำวันทุกอย่างต้องใช้พลังงานในการที่จะลดน้ำหนัก ควรพยายามใช้พลังงานให้มากขึ้น โดยการเคลื่อนไหวออกแรงให้มากขึ้น ทุกครั้งที่มีโอกาส เช่น ใช้บันไดให้มากขึ้น โดยอาจจะกดลิฟต์ลงก่อนชั้นที่ต้องการ แล้วเดินขึ้นต่อไปอีก 1 ชั้น จอดรถให้ห่างจากทางเข้า จะได้เพิ่มระยะเวลาในการเดินมากขึ้น ลงรถเมล์ก่อนป้ายที่ต้องการแล้วเดินต่อจนถึงจุดหมายที่ต้องการ
เมื่อออกกำลังด้วยการเดินได้อย่างสม่ำเสมอแล้ว ก็ควรพิจารณาออกกำลังกายแบบแอโรบิก เพื่อที่จะทำให้สามารถลดน้ำหนักได้มากและเร็วขึ้น การออกกำลังกายแบบแอโรบิก คือ การออกกำลังกายที่หนักขึ้น เพื่อให้ร่างกายได้ออกซิเจนจำนวนมากขึ้น โดยให้คุณออกกำลังเพื่อให้หัวใจของคุณเต้นเร็วขึ้นจนถึงระดับเป้าหมาย และคงการเต้นของหัวใจในระดับนั้น ประมาณ 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง
เป้าหมายของอัตราการเต้นของหัวใจของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน
ระดับเป้าหมายของอัตราการเต้นของหัวใจในผู้หญิงควรจะอยู่ที่ปริมาณ 60% ของอัตราการเต้นสูงสุด และ 80% สำหรับผู้ชาย อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจคำนวณได้โดยนำ 220 ลบด้วยอายุ เช่น ผู้ชายอายุ 45 ปี อัตราการเต้นสูงสุดของหัวใจคุณจะเท่ากับ 220 - 45 = 175
ดังนั้น ระดับเป้าหมายของอัตราการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย คือ 0.8 * 175 = 140 ครั้งต่อนาที แต่ถ้าเป็นผู้หญิงอายุ 45 ปี ระดับเป้าหมายของอัตราการเต้นของหัวใจคือ 0.6 * 175 = 105 ครั้งต่อนาที
ดังที่เคยกล่าวถึงไว้แล้ว 3,500 กิโลแคลอรี จะประมาณเท่ากับ 0.5 กก. ดังนั้น ถ้าพลังงานถูกใช้ไป 3,500 กิโลแคลอรี จากการออกกำลังกาย น้ำหนักตัวก็จะลดลงประมาณ 0.5 กก. การคิดแบบนี้เป็นแค่หยาบๆ เท่านั้น แต่ก็สามารถใช้เป็นแรงจูงใจในการออกกำลังกายได้
วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น