ภาวะภูมิแพ้คืออะไร
ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่ง ในการสร้างเกราะป้องกันตัวเองจากการคุกคาม ที่เป็นอันตรายต่อทุกอย่าง เช่น ไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่ในบางคนระบบป้องกันอาจทำงานมากเกินไป ซึ่งกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เกิดปฏิกิริยาต่อสารบางชนิด เช่น ฝุ่นละออง เชื้อรา เกสรดอกไม้ ไรฝุ่น เนื่องจากคิดว่า เป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจึงเตรียมการป้องกันโดยหลั่งสารเคมี เพื่อกำจัด หรือทำลายสิ่งที่เป็นศัตรูที่จู่โจมเข้ามา ในกระบวนการนี้อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อร่างกาย แต่ในบางคนที่มีแนวโน้มที่จะแพ้สารนั้น ๆ อยู่แล้วอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ชนิดของอาการแพ้ แบ่งตามลักษณะได้ 4 กลุ่ม คือ
ไข้ละอองฟาง (Allergic Rhintis) เป็นปฏิกิริยาต่อสารที่เป็นละอองในอากาศ เช่น เกสรดอกไม้ เชื้อรา ซึ่งถูกสูดดมผ่านทางปากหรือจมูก ซึ่งทำให้มีอาการหายใจเสียงดัง คัดจมูก น้ำมูกไหล มีน้ำมูก น้ำลายมาก ตาแฉะ แสบร้อน คอแห้ง บางครั้งอาจจะมีเป็นช่วง ๆ ของฤดู สาเหตุเกิดจากเกสรดอกไม้ เชื้อรา เราจึงมักเรียกว่า ไข้ละอองฟาง หรือเกิดขึ้นตลอดปีนั้น สาเหตุมักเกิดจากฝุ่น รังแคจากสัตว์เลี้ยงในบ้านหรือสัตว์ทั่ว ๆ ไป และจากอาหารที่พบได้บ้าง
อาการแพ้ทางผิวหนัง (Contact Dermatitis) เป็นปฏิกิริยาของผิวหนังหลังจากสัมผัสสารที่แพ้ทำให้เกิดอาการผื่นคัน ลมพิษ โดยมากผิวหนังจะสัมผัสสารโดยตรงที่พบบ่อยคือ สารเคมี ปฏิกิริยาดังกล่าวอาจใช้เวลา 1 ชั่วโมงหรือเป็นวัน ในกรณีที่ถูกหมามุ่ย ผื่นแดงที่พบบ่อย ส่วนมากเกิดจากเกสรดอกไม้ อาหาร และขนสัตว์ แต่ปื้นหรือผื่นพอง บริเวณผิวหนัง อาจเกิดจากความเครียด โรค อื่น ๆ แพ้อาหาร สัตว์เลี้ยง และยา โดยเฉพาะเพนนิซิลินและแอสไพริน
หอบหืด (Asthma) เกิดจากการหดตัวของช่องทางเดินหายใจส่วนหลอดลม ทำให้เกิดการอุดตันของช่องทางเดินหายใจ อาการหอบหืด ได้แก่ หายใจลำบาก แน่นหน้าอกคล้ายถูกบีบ ไอและจาม อาการอาจจะเกิดรวดเร็วและมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงขั้นอันตรายถึงชีวิต แต่ในบางคนอาจมีเพียงอาการไอเรื้อรังอย่างเดียว จึงทำให้ไม่ทราบว่าเป็นหอบหืด
อาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) เป็นการตอบสนองปฏิกิริยาต่อสารภูมิแพ้อย่างรุนแรง ซึ่งมีผลต่อร่างกายเกือบทุกส่วนอย่างเฉียบพลัน สารกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ได้แก่ เหล็กในของแมลง อาหาร เช่น ถั่วบางชนิด อาหารทะเล ยา ผู้ป่วยจะมีอาการความดันตก หน้าแดง หายใจลำบาก บริเวณคอ ลิ้น และจมูกบวม หมดสติ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและลุกลามไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องรีบรักษาโดยเร็วตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก หากพบว่ามีอาการแพ้อย่างรุนแรง
สาเหตุที่เกิดปฏิกิริยาเคมี สารที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเคมีนับร้อยชนิด และที่พบบ่อยคือ เกสรดอกไม้ เชื้อรา ไรฝุ่น สะเก็ด รังแคจากสัตว์ สารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม อาหาร ยา ขนนก และเหล็กในของแมลง สิ่งเหล่านี้เรียกว่า "สารก่อภูมิแพ้" (Allergens) ปฏิกิริยาแพ้จะเกิดทั่ว ๆ ไปตามร่างกาย มักจะพบบ่อยที่บริเวณหนังตา ผนังกระเพาะอาหาร จมูก บริเวณไซนัส ในลำคอและปอด เป็นบริเวณที่ร่างกายได้สร้างสารภูมิคุ้มกันไว้ เพื่อต่อสู้กับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ที่รับเข้าไปจากการสูดดม กลืนหรือสัมผัส
บุคคลที่มีโอกาสเป็นภูมิแพ้ภาวะภูมิแพ้อาจเกิดได้กับทุกคนไม่เลือกเพศ วัย เชื้อชาติ หรือสถานะทางเศรษฐกิจ สังคม แต่โดยทั่วไปมักเกิดในเด็ก ซึ่งอาการแรกเริ่มจะพบได้ในทุกอายุและบางรายอาจเกิดอาการ หลังจากครั้งแรก ไปนานถึงหลาย ๆ ปี ปัจจัยทางพันธุกรรม ก็ยังไม่เป็นที่แน่ใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่แนวโน้มพบว่า คนที่เป็นหอบหืดหรือภูมิแพ้มักมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ ในบางคนอาจพบปัจจัยอื่น ๆ ได้ เช่น ฮอร์โมน ความเครียด การสูบบุหรี่ น้ำหอม หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ก็มีส่วนช่วยเสริมให้เกิดอาการได้
เมื่อใดจึงควรพบแพทย์ภูมิแพ้ หากท่านประสบปัญหาหอบหืด แพ้ หรือสงสัยว่าจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง แพทย์ภูมิแพ้จะช่วยให้ท่านค่อย ๆ เรียนรู้และสังเกตอาการแพ้ที่ท่านเป็นและเตรียมวิธีรักษา เพื่อควบคุมหรือระงับอาการของโรค อาการหอบหืดหรือภูมิแพ้ มักเกิดขึ้นทีละน้อย เช่น มักจะมีอาการจามบ่อย ๆ คัดจมูก หายใจ เสียงดัง มีอาการนานจนทำให้ไม่คิดว่าผิดปกติ แต่กระนั้นแพทย์ภูมิแพ้ก็สามารถให้การรักษา ป้องกันและควบคุมอาการเหล่านั้นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตแก่ท่าน
การรักษาภาวะภูมิแพ้
แพทย์จะทดสอบการแพ้ เพื่อค้นหาสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ของผู้ป่วยแต่ละราย การป้องกันหอบหืดที่ดีที่สุดคือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่แพทย์จะช่วยหาแนวทางป้องกัน เพื่อลดการสัมผัสต่อสารนั้น รวมทั้งป้องกันอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้น
ปัจจุบันมียาใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาทั้งหอบหืดและภูมิแพ้ได้อย่างดี
การรักษาโดยการฉีดยาเพิ่มภูมิคุ้มกัน โดยแพทย์จะฉีดสารที่ผู้ป่วยแพ้ให้ และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณของสารนั้นทีละน้อย ในระยะเวลาที่นานขึ้น ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว โดยมีปฏิกิริยาแพ้สารนั้นลดลงเรื่อย ๆ
วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น