วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คำศัพท์(5)

Pourvoi (n.m.)

คำว่า Pourvoi หรือ Pourvoi en cassation หมายถึง คำฎีกา โดยจะใช้ต่อเมื่อเรากล่าวถึงการฎีกาต่อศาลสูงสุด ทั้งที่เป็นศาลปกครอง (Conseil d'Etat) และศาลยุติธรรมสูงสุด (Cour de cassation) ข้อควรระวัง เราจะสังเกตได้ว่า คำนี้เขียนต่างจากคำว่า pouvoir ที่หมายถึง อำนาจ

คำว่า pourvoi เป็นคำนาม หากเราต้องการพูดว่า "ยื่นฎีกา" จะต้องใช้กับคำกริยา former ดังนั้น เราสามารถพูดว่า Il va former un pourvoi en cassation contre la décision du juge d'appel. เพื่อบอกว่า เขาจะฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

ศาลฎีกาของฝรั่งเศส มีอำนาจต่างจากศาลฎีกาของไทย โดย ศาลฎีกาฝรั่งเศส หรือ Cour de cassation มีอำนาจในการตัดสินเฉพาะข้อกฎหมาย (en droit) เพื่อตรวจสอบว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้กฎหมายถูกต้องหรือไม่ แต่จะไม่มีอำนาจในการพิจารณาและตัดสินข้อเท็จจริง (en fait) อันถือว่าอยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ (appréciation souveraine des juges du fond)

Pourvoi หรือ คำฎีกา สามารถแบ่งได้เป็นส่วนๆ แล้วแต่กรณีตามที่ผู้ฎีกาเห็นสมควร โดย แต่ละส่วนเรียกว่า Moyen ซึ่ง แต่ละ Moyen จะพยายามชี้ให้เป็นว่ามีการใช้กฎหมายไม่ถูกต้องตามมาตราใด หรือหลักใด ดังนั้น หากผู้ฎีกาเห็นว่ามีการใช้กฎหมายผิดต่อ 2 หลักสำคัญ คำฎีกาของเขาก็จะมี 2 Moyens เป็นต้นในแต่ละ Moyen อาจแบ่งได้เป็นหลายประเด็นย่อย เรียกว่า Branche โดยแต่ละ Branche จะแสดงเหตุผลสนับสนุนเป็นข้อๆไป

คำพิพากษาของศาลฎีกามีได้ 2 แบบคือ1. Arrêt de rejet คือกรณีที่ศาลฎีกาพิจารณาว่า ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ใช้กฎหมายถูกต้องแล้ว ศาลจะพิพากษายืน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้คำฎีกาตกไป2. Arrêt de cassation คือกรณีที่ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ ใช้ข้อกฎหมายไม่ถูกต้อง ศาลจะให้คำพิพากษาของศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์นั้นๆตกไป และเนื่องจากศาลฎีกาไม่มีอำนาจในการพิจารณาข้อเท็จจริง ศาลจึงต้องส่งคดีกลับไปยังศาลชั้นต้น หรือศาลอุทธรณ์ เมืองอื่น หรือ เมืองเดิมแต่ต่างชุดผู้พิพากษา โดยการส่งกลับนี้เรียกว่า renvoi

ในบางกรณี หากศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่จะส่งกลับ ศาลก็สามารถไม่ส่งกลับ (Cassation sans renvoi) เช่น ตามปกติ หลังจากที่ศาลชั้นต้นตัดสินคดี คู่กรณีสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายในเวลาที่กำหนด หากผู้อุทธรณ์ยื่นอุทธรณ์ล่าช้า แต่ศาลอุทธรณ์กลับยอมรับคำอุทธรณ์ และตัดสินคดี คู่กรณีสามารถยื่นฎีกาได้ว่า ศาลอุทธรณ์กระทำผิดโดยการยอมรับคำอุทธรณ์หลังจากกำหนด หากศาลฎีกาตัดสินให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์นั้นตกไป ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะส่งคดีกลับไปยังศาลอุทธรณ์อื่นๆอีกเนื่องจากคดีนั้นสิ้นสุดแล้วด้วยคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่น่าสนใจอีกคดีหนึ่ง โดย ศาลฎีกาฝรั่งเศส ตัดสินเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535) ในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์ เมือง เอ๊กซ์-ออง-โพรว้องซ์ ปฏิเสธคำขอของชายที่แปลงเพศแล้ว เพื่อเปลี่ยนคำระบุเพศในทะเบียนประวัติ (acte d'état civil) จากชายเป็นหญิง ศาลฎีกาตัดสินยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยไม่ได้ส่งคดีกลับไปยังศาลอุทธรณ์อื่น

ไม่มีความคิดเห็น: