วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2551

คำศัพท์(8)

Règlement (n.m.) กฏ (กม.ทั่วไป)
règlement หมายถึง กฏ ที่ออกโดยฝ่ายบริหาร
ในฝรั่งเศส ลำดับชั้นของกฎหมายเป็นไปตามทฤษฎีของ นักกฎหมายออสเตรีย Hans KELSEN (1881-1973) ที่เรียกว่า ทฤษฎีปิรามิด (Piramide des normes หรือ Hiérarchie des normes) กล่าวโดยสรุปคือ

-Constitution (รัฐธรรมนูญ) มีค่าสูงสุด ตามด้วย
-Convention internationale (สนธิสัญญาต่างๆ ที่ได้รับการอนุวัตการ (ratification) แล้ว) ตามด้วย
-Loi (รัฐบัญญัติ) และ Ordonnance(รัฐกำหนด)ตามด้วย
Règlement ต่างๆออกโดยฝ่ายบริหาร เช่น Décret(ออกโดยอาศัยอำนาจจากรัฐธรรมนูญ หรือ รัฐบัญญัติ โดยประธานาธิบดี หรือ นายกรัฐมนตรี ), Arrêté (ออกโดยรัฐมนตรี, Préfet หรือ ผู้มีอำนาจใน département (อาจเทียบได้กับจังหวัด), Maire หรือ นายกเทศมนตรี เป็นต้น) จะมีศักดิ์ต่างกันตามลำดับ โดยขึ้นอยู่กับผู้ออก เช่น arrêté ministérielle ซึ่งออกโดยรัฐมนตรี จะมีศักดิ์สูงกว่า arrêté municipale ซึ่งออกโดยนายกเทศมนตรี เป็นต้น กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าจะขัดกับกฎหมายที่มีลำดับสูงกว่าไม่ได้ โดยอำนาจการพิจารณาว่ากฎหมายลำดับที่ต่ำกว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ (Conseil Constitutionnel) หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญ กฎหมายนั้นจะตกไป แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่า Règlement และคำสั่งทางปกครองขัดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายในลำดับที่สูงกว่าหรือไม่เป็นอำนาจของศาลปกครอง เนื่องจาก กฎหมายต้องการให้ศาลปกครองเป็นผู้ตรวจสอบฝ่ายปกครองโดยตรง ส่วนที่เหลือ กรณีพิจารณาว่า Loi ขัดกับสนธิสัญญาหรือไม่ นั้น เป็นอำนาจของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ผู้ที่จะขอให้ศาลพิจารณาได้ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีดังกล่าวด้วย และคำตัดสินจะมีผลเฉพาะกับคู่กรณีเท่านั้น ไม่ได้ทำให้กฎหมายนั้นตกไป(โปรดดูเรื่องลำดับศักดิ์ของหลักกฎหมายทั่วไป หรือ Principes généraux du droit ประกอบ)
รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสได้บัญญัติขอบเขตอำนาจในการตรากฎหมายของรัฐสภา (domaine de la loi) ไว้ในมาตรา 34 ตัวอย่างเช่น กฎหมายว่าด้วยสัญชาติ สภาพบุคคล ความสามารถของบุคคล ทรัพย์ หนี้ การคุ้มครองเสรีภาพ การเลือกตั้งผู้แทนราษฎร การกำหนดโทษอาญา(ยกเว้นลหุโทษ) การกำหนดอัตราภาษี การโอนบริษัทต่างชาติเป็นของรัฐ เป็นต้นส่วนขอบเขตอำนาจของฝ่ายบริหารนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ในมาตรา 37 ว่า ฝ่ายบริหารมีอำนาจในการตรากฏ (règlement autonome) ในทุกกรณีนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34นอกจากนี้ มาตรา 38 บัญญัติว่า หากมีเหตุจำเป็นหรือฉุกเฉิน รัฐสภาสามารถอนุญาตให้ฝ่ายบริหาร ออกกฏในส่วนที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 ได้ โดยออกเป็น ordonnance

ไม่มีความคิดเห็น: