วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

คำศัพท์(4)

Acte de gouvernement (n.m.)
คำว่า "การกระทำของรัฐบาล" หรือ "Act de gouvernement" นี้ ใช้เพื่อเรียก การกระทำที่รัฐบาลทำแล้วศาลปกครองจะไม่สามารถเข้ามาควบคุมหรือตัดสินให้เป็นโมฆะได้
เพื่อพิจารณาว่าการกระทำใดบ้างเป็นการกระทำของรัฐบาล ในสมัยก่อนศาลปกครองของฝรั่งเศสใช้ ทฤษฎี "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง" (Mobile politique) ในการพิจารณา โดยการกระทำที่มาจากเหตุจูงใจทางการเมืองจัดว่าเป็นการกระทำของรัฐบาล และศาลปกครองจะไม่เข้ามาควบคุม
อย่างไรก็ดี ต่อมาในปี ค.ศ. 1875 ศาลปกครองสูงสุดของฝรั่งเศสได้นำทฤษฎี "มูลเหตุจูงใจทางการเมือง" (Mobile politique) มาใช้เป็นเหตุยกเลิกการกระทำทางปกครอง (CE 19 février 1875 Prince Napoléon) โดยพิจารณาว่า การกระทำที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง ไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล แต่เป็นการกระทำทางปกครองที่ไม่ถูกต้อง และต้องเป็นโมฆะ โดยอาจเป็นโมฆะด้วยเหตุใช้อำนาจในทางที่ผิด (détournement du pouvoir) หรือ ใช้กฎหมายผิด (erreur de droit) ทั้งนี้เนื่องจากการกระทำทางปกครองจะต้องมีเหตุจูงใจคือผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่เหตุจูงใจทางการเมือง
ปัจจุบัน เราสามารถแบ่ง "การกระทำของรัฐบาล (Act de gouvernement)" ออกได้เป็น 2 ประเภท (G. CORNU, Vocabulaire juridique, PUF 1987 และ M. LONG, P. WEIL, G. BRAIBANT, P. DELVOLVE และ B. GENEVOIS, Les grands arrêts de la jurisprudence administrative, Dalloz, 2001) ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การตัดสินใจให้ทำประชามติ การประกาศใช้มาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในกรณีวิกฤตโดยประธานาธิบดีจะมีอำนาจในการออกกฎต่างๆ การตัดสินใจยุบสภา การแต่งตั้งหรือถอดถอนรัฐมนตรี การประกาศใช้กฎหมาย เป็นต้น
2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น การเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศ การอนุวัติการ การปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การทหารระหว่างประเทศ
การกระทำของรัฐบาลไม่สามารถถูกควบคุมโดยศาลปกครอง และรัฐ (ประเทศ) ไม่ต้องรับผิดจากการกระทำของรัฐบาล (สนธิสัญญาระหว่างประเทศไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล เนื่องจากสนธิสัญญาไม่ใช่การกระทำของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง ฝรั่งเศสยอมรับว่ารัฐอาจต้องรับผิดจากผลของสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นการรับผิดชอบโดยไม่ต้องมีการพิสูจน์ความผิด (Résponsabilité sans faute))

ไม่มีความคิดเห็น: