วันอังคารที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

คำศัพท์(12)

Grève (n.f.) (กม.แรงงาน) การประท้วงหยุดงาน

ตามกฎหมายฝรั่งเศส Grève หรือการประท้วงหยุดงาน จัดเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ (droit à valeur constitutionnelle) และชาวฝรั่งเศสเองก็ใช้สิทธิ์นี้เป็นประจำ จนมีคำกล่าวว่าการประท้วงหยุดงานเปรียบเสมือนกีฬาประจำชาติของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ดี กฎหมายไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำนี้ จนในปี 1986 ศาลฎีกา หรือ Cour de Cassation ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า Grève ในคำพิพากษาวันที่ 17 มกราคม 1986 ว่า หมายถึง การนัดหมายหยุดงานพร้อมๆกันของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างไม่ทำตามข้อเรียกร้อง

การประท้วงหยุดงานที่ถูกต้องตามกฎหมายจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข 3 ประการ ดังนี้
1. จะต้องเป็นการ หยุดงาน (cessation franche) แม้จะเป็นระยะสั้น ดังนั้น การที่ลูกจ้างทำงานช้า ทำให้ผลผลิตลดลง จึงไม่จัดเป็นการประท้วงหยุดงาน แต่เป็นการทำงานไม่ดี ไม่เป็นไปตามสัญญาจ้างงาน และนายจ้างอาจลงโทษลูกจ้างได้ การกระทำแบบนี้มักถูกเรียกว่า Grève perlée ถึงแม้ว่าจะไม่จัดว่าเป็น grève ตามกฎหมาย
2. จะต้องเป็นการกระทำของหมู่คณะ และมีการนัดหมายกัน (cessation collective et concertée) ตามหลักแล้ว การประท้วงหยุดงานต้องกระทำพร้อมกันโดยลูกจ้างหลายคน อย่างไรก็ดี การประท้วงหยุดงานตามกฎหมายอาจเป็นการกระทำของลูกจ้างคนเดียวได้ เมื่อ
- บริษัทประกอบด้วยลูกจ้างคนเดียว หรือ
-การหยุดงานของลูกจ้างคนเดียวนั้นเป็นการทำตามคำเรียกร้องให้ประท้วงหยุดงาน ที่สหภาพแรงงานประกาศในระดับประเทศ(แม้ลูกจ้างคนอื่นในบริษัทเดียวกันจะไม่ยอมหยุดงานด้วยก็ตาม)
3. จะต้องมีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับงาน (revendication professionnelle)
ลูกจ้างที่จะประท้วงหยุดงาน ต้องยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง อย่างช้าพร้อมๆกับการเริ่มประท้วงหยุดงาน ในกรณีที่เป็นงานบริการสาธารณะ จะต้องมีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (préavis) โดยสหภาพแรงงาน
หากข้อเรียกร้องเป็นการเรียกร้องแทนผู้อื่น (grève de solidarité) โดยที่ลูกจ้างที่ประท้วงหยุดงานไม่มีส่วนได้เสียเลย การประท้วงหยุดงานนั้นจัดว่าผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ส่วนมากการเรียกร้องแทนผู้อื่นอาจได้รับพิจารณาว่ามีส่วนได้เสียร่วมกัน เช่น ลูกจ้างผู้หนึ่งถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม การประท้วงหยุดงานจะถือว่าถูกกฎหมาย เนื่องจากผู้ประท้วงอาจได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมได้ จึงเกิดการประท้วงขึ้นเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเป็นธรรม

ไม่มีความคิดเห็น: